ออกแบบบ้าน

ออกแบบบ้าน
ออกแบบบ้าน

ออกแบบบ้าน

ออกแบบบ้าน หากต้องการสร้างบ้านหลังใหญ่เน้นความสวยงาม การออกแบบด้วยสถาปนิกนั้นนับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างบ้าน สถาปนิกที่เก่ง จะช่วยแก้ปัญหาการจัดสรรพื้นที่ ช่วยให้บ้านของเราสวยงาม มีสไตล์ แถมยังอยู่สบายสอดคล้องกับการใช้ชีวิตของผู้อาศัยในบ้าน แต่หากต้องการสร้างบ้านหลังเล็ก เน้นการอยู่อาศัยอย่างง่าย การออกแบบบ้านด้วยตนเองเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถทำได้ จุดสำคัญคือการสื่อสารกับช่างก่อสร้างให้ได้ทราบถึงความต้องการของเราเอง

และวิธีการสื่อสารที่ง่ายที่สุดในการสร้างบ้าน นั่นคือการวาดแปลนบ้านนั่นเองครับ สำหรับวันนี้ขอนำหลักการออกแบบบ้านด้วยตนเองอย่างง่าย โดยจะเน้นไปถึงการจัดสรรพื้นที่ พร้อมกับวาดผังแปลนภายในบ้านด้วยตนเอง เพื่อนำแปลนดังกล่าวไปให้ผู้รับเหมาก่อสร้าง หรืออาจส่งต่อให้สถาปนิกเขียนแบบแปลนมาตรฐาน เพื่อจะได้นำไปต่อยอดเป็นแปลนบ้านใช้งานจริงกัน

ก่อนจะถึงขั้นตอนการออกแบบ บ้าน สิ่งแรกที่สำคัญเป็นอย่างมากคือการศึกษาแปลงที่ดินของเราเองให้ละเอียด ที่ดินมีหน้ากว้างกี่เมตร ลึกกี่เมตร ทิศไหนอยู่ด้านไหนบ้าง การสำรวจทิศทางนี้เพื่อที่จะให้เราได้วางผังบ้านได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ ลมและแสงแดด ขนาดของที่ดินยังบอกถึงขนาดและรูปทรงของบ้าน เช่น มีที่ดิน 40 ตร.ม. แต่ต้องการพื้นที่ใช้สอย 200 ตารางเมตร แน่นอนว่าจะต้องออกแบบเป็นบ้าน 2 ชั้นเท่านั้น และการออกแบบจะต้องเผื่อขอบเขตระยะร่นตามกฎหมายกำหนดไว้

กฎหมายสร้างบ้าน ระยะร่นข้างบ้าน หลังบ้านและหน้าถนน

ออกแบบบ้าน

ระยะร่น หรือระยะเว้นห่าง นับเป็นส่วนสำคัญที่ใครก็ตามที่กำลังคิดสร้าง บ้าน อาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ควรทราบข้อกฏหมายนี้ไว้ เพื่อที่จะได้ออกแบบบ้านของเราให้มีสัดส่วนพอดีกับแปลงที่ดิน มิเช่นนั้นแล้วหากออกแบบมาผิด เมื่อนำแบบไปขออนุญาตก็อาจไม่ผ่าน ไม่ได้รับอนุญาต จำเป็นต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายมาแก้แบบกันใหม่ หรือหากท่านใดที่ยังไม่ได้ซื้อที่ดินแต่มีแบบบ้านเก็บไว้ในใจแล้ว จะได้เลือกซื้อที่ดินให้มีขนาดพอดีกับสัดส่วนระยะร่นด้วย

ระยะร่นกับถนนสาธารณะ

  • กรณีถนนสาธารณะ มีความกว้างน้อยกว่า 6 เมตร ให้ร่นแนวอาคารห่างจากกึ่งกลางถนนสาธารณะ อย่างน้อย 3 เมตร
  • กรณีถนนสาธารณะ มีความกว้างน้อยกว่า 10 เมตร ให้ร่นแนวอาคารห่างจากกึ่งกลางถนนสาธารณะ อย่างน้อย 6 เมตร เช่น ถนนมีความกว้าง 8 เมตร วัดจากกึ่งกลางถนนอย่างน้อย 6 เมตร กรณีนี้ระยะร่นอาคารไปถึงเขตถนน กว้างอย่างน้อย 2 เมตร
  • กรณีถนนสาธารณะ มีความกว้างตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป แต่ไม่เกิน 20 เมตร ให้ร่นแนวอาคารห่างจากเขตถนนสาธารณะ อย่างน้อย 1 ใน 10 ของความกว้างของถนนสาธารณะ เช่น ถนนมีความกว้าง 12 เมตร ระยะร่นอย่างน้อย 1.2 เมตร
  • กรณีถนนสาธารณะ มีความกว้างเกิน 20 เมตรขึ้นไป ให้ร่นแนวอาคารห่างจากถนนสาธารณะอย่างน้อย 2 เมตร

ระยะร่นกับเพื่อนบ้าน (ข้างบ้านและหลังบ้าน)


กรณีมีช่องแสง ช่องลม
สำหรับระยะร่นด้านข้างและด้านหลังบ้าน จะทำการวัดจากขอบผนังบ้านริมนอกสุดกับเขตที่ดินของเรา โดยอิงกับขนาดความสูงของอาคาร หากเป็นบ้านทั่วไปที่สูงไม่เกิน 9 เมตร มีช่องแสง ช่องลม บล็อคแก้ว ประตู หน้าต่าง ระเบียง ระยะร่นต้องห่างไม่น้อยกว่า 2 เมตร สำหรับชั้น 3 ของบ้าน 3 ชั้น หรือสูงเกิน 9 เมตร แต่ไม่เกิน 23 เมตร ให้มีระยะร่นอย่างน้อย 3 เมตร

กรณีไม่มีช่องแสง ช่องลม
กรณีที่ต้องการให้มีระยะร่นน้อยกว่าตามข้อกำหนด การออกแบบบ้านจะต้องออกแบบในลักษณะปิดทึบ ไม่ให้มีช่องแสงหรือช่องลมลอดผ่านได้ รวมทั้งบล็อคแก้ว ประตู หน้าต่าง ระเบียง โดยตามกฏหมายได้กำหนดให้สามารถร่นได้ 50 เซนติเมตร และหากต้องการสร้างชิดติดขอบที่ดินก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่อาคารดังกล่าวต้องมีความสูงไม่เกิน 15 เมตร และต้องให้เจ้าของที่ดินด้านดังกล่าว เซ็นหนังสือยินยอม หากเพื่อนบ้านไม่ยินยอมก็จะเป็นไปตามข้อกฏหมายร่นได้ 50 เซนติเมตรและต้องปิดทึบทั้งผนังเท่านั้น สำหรับอาคารที่มีชั้นดาดฟ้า ดาดฟ้าด้านดังกล่าวต้องทำผนังทึบสูงจากดาดฟ้าไม่น้อยกว่า 1.8 เมตร

เรื่องกฏหมายสร้างบ้าน อ่าน ๆ ไปแล้วอาจจะทำความเข้าใจยากสักนิด แต่อย่างไรก็ตามต้องทำความเข้าใจอย่างรอบคอบ แม้ที่ดินที่เราซื้อมานั้นถูกต้องตามกฏหมายทุกประการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะสามารถทำอะไรก็ได้บนที่ดินผืนนั้น จำเป็นต้องมีการควบคุมเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม
อ้างอิง : กฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543) ออกตามความในพระราชบัณณัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522

ขั้นตอนออกแบบบ้านเองง่าย ๆ ตามสไตล์เราเอง

ออกแบบบ้าน

กำหนดสไตล์

การเลือกสไตล์ของบ้าน เป็นการกำหนดขอบเขต เป้าหมาย เพื่อให้จินตนาการของความต้องการมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผู้อ่านอาจขับรถท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ พักรีสอร์ท เยี่ยมบ้านเพื่อน หรือหากให้สะดวกหน่อยก็เพียงคลิกเข้าชมเว็บไซต์บ้านไอเดีย ตัวอย่างบ้านเหล่านี้เราสามารถนำมาประยุกต์ กำหนดแนวทางการออกแบบบ้านในฝันของเราได้ แต่ต้องขอย้ำให้ทราบกันก่อนว่า เราสามารถนำดีไซน์มาประยุกต์ใช้ได้ แต่ไม่สามารถไปลอกแบบได้นะครับ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าของบ้านหรือเจ้าของแบบโดยตรง โดยปกติแล้วสไตล์ของบ้านมีค่อนข้างหลากหลาย บ้าน

ทั้งไทยประยุกต์ , Vintage , Loft , Minimal , Tropical , หรืออาจเลือกเอกลักษณ์ของบ้านจากต่างประเทศ เช่น บ้านสไตล์ทัสคานี เป็นต้น ทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องมีส่วนประกอบที่เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องเป๊ะ เราอาจผสมผสานรวมแต่ละสไตล์ เลือกจุดที่ชอบนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้กลายเป็นสไตล์ของเราเองได้เช่นกันครับ พบเจอที่ไหน ถ่ายภาพเก็บไว้ หรือหากชอบตัวอย่างแบบบ้านในเว็บบ้านไอเดีย ก็อาจจะเซฟลิงค์เก็บไว้ เผื่อตอนใช้งานจริงจะได้ค้นหาข้อมูลเจอ การเลือกสไตล์บ้านที่ดี นอกจากความชื่นชอบส่วนตัวแล้ว สถานที่ก่อสร้างเป็นสิ่งที่สำคัญ ควรออกแบบบ้านให้เหมาะสม สอดคล้องหรือดูเข้ากับสถานที่ ชุมชนที่อยู่อาศัยด้วยครับ

เขียนความต้องการลงไป

ก่อนการออกแบบสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก คือการวิเคราะห์ความต้องการ ขั้นตอนนี้จำเป็นต้องพูดคุยกันทั้งครอบครัว มีสมาชิกกี่คน อยากได้อะไรบ้าง อยากได้แบบไหน มีเฉลียง ชานระเบียง มีกี่ห้องนอน กี่ห้องน้ำ เป็นคนชอบทำครัวหรือไม่ ห้องนั่งเล่น ห้องดูทีวี ห้องทำงาน โจทย์เหล่านี้แต่ละบ้านย่อมมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะความต้องการหลักพื้นฐาน เช่น จำนวนห้องนอน ห้องน้ำ เป็นต้น

กำหนดขนาด

เมื่อทราบความต้องการแล้ว กำหนดขนาดพื้นที่ใช้สอยของแต่ละห้องลงไป อยากให้กว้าง ยาว กี่เมตร การกำหนดขนาดแต่ละห้องจะช่วยให้สามารถวิเคราะห์หาพื้นที่ใช้สอยรวมทั้งหมดได้ ผลวิเคราะห์นี้จะทำให้การออกแบบบ้านชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งยังช่วยให้เราทราบอีกว่า เราควรสร้างบ้านกี่ชั้นถึงจะเหมาะสม หากมีที่ดินอยู่แล้วจำเป็นต้องออกแบบให้สอดคล้องกับที่ดิน แต่หากยังไม่มีที่ดิน การกำหนดขนาดพื้นที่ใช้สอย จะทำให้เราหาซื้อที่ดินได้ตามขนาดที่ต้องการ การกำหนดขนาดนี้ยังสามารถนำไปอิงกับการประมาณราคาก่อสร้างได้อีกด้วยครับ home

กำหนดตำแหน่ง ทิศทาง

การออกแบบผังบ้านที่ดีควรออกแบบให้สอดคล้องกับธรรมชาติ เพื่อให้การอยู่อาศัยภายในบ้านเป็นไปอย่างเหมาะสมที่สุด โดยรวมแล้วจะคำนึงถึงทิศทางของแสงแดด และทิศทางลม โดยแสงแดดจะส่องมากในทิศตะวันตก ทิศใต้ ห้องที่ต้องการแสงมาก เป็นห้องที่ต้องการกำจัดความชื้น เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องซักล้าง ส่วนห้องที่ต้องการแสงเพียงพอเหมาะ เช่น ห้องนอน , ห้องนั่งเล่น , ห้องทำงาน , ห้องดูหนัง เพราะหากแสงมากเกินไปอาจหมายถึงความร้อนที่มากขึ้นเช่นกันครับ

ลองวาดแบบบ้านดู

เครื่องมือพื้นฐานที่สุดที่ใช้ในการวาดแปลน คือ ดินสอ + กระดาษ A4 หรือผู้อ่านถนัดใช้เครื่องมือใดก็สามารถเลือกได้ตามต้องการ ทั้งวาดด้วยมือหรือใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์มาช่วยก็สามารถทำได้เช่นกันครับ หลักการวาดแปลน วาดเป็นมุมภาพ 2D โดยให้นึกถึงการมองภาพจากบนหลังคาบ้าน ซึ่งอาจต้องทำความเข้าใจกับสัญลักษณ์พื้นฐานกันสักนิด เช่น ประตู หน้าต่าง ส่วนห้องอื่นๆสามารถวาดเป็นสี่เหลี่ยมในแบบห้องทั่วไป ทั้งนี้หากผู้อ่านไม่เข้าใจสัญลักษณ์ ก็ไม่เป็นปัญหาใด เพียงแค่วาดและเขียนคำอธิบายประกอบร่วมด้วย ให้พอสื่อสารได้ตรงกัน เพียงเท่านี้ก็สามารถนำไปคุยกับช่างรับเหมาได้แล้วครับ

อ่านเรื่องถัดไป : แบบบ้านฟรี